ในบรรดาแม่ทัพจีน ที่มีชื่อเสียงมากสุดคนหนึ่งคือ งักฮุย (จีนกลางเรียก เยว่เฟย) นอกจากฝีมือในการรบ และความรักชาติแล้ว แม่ทัพชาวไต้ซ้องผู้นี้ยังเป็นนักกวี เขาเขียนไว้หลายบท ที่โด่งดัง ประทับใจ คือบทลำนำขับทำนอง (ฉือ) ที่ชื่อว่า แดงทั่วธาร หรือ หม่านเจียงหง บทนี้
滿江紅
怒髮衝冠,
憑欄處,瀟瀟雨歇。
抬望眼,仰天長嘯,
壯懷激烈。
三十功名塵與土,
八千里路雲和月。
莫等閒 白了少年頭,空悲切。
靖康恥,猶未雪;
臣子恨,何時滅?
駕長車踏破 賀蘭山缺!
壯志飢餐胡虜肉,
笑談渴飲匈奴血。
待從頭收拾舊山河,
朝天闕
ก่อนจะออกจากบ้านไปรับใช้ชาติ มารดาของงักฮุยได้สลักอักษรจีน 4 ตัวไว้ที่กลางแผ่นหลังของบุตรชาย นั่นคือ{จิ้นจงเป้ากั๋ว} หรือ {รู้รักภักดี พลีชีพเพื่อชาติ}
เยว่เฟย (Yue fei งักฮุย) (ค.ศ. 1103-1142)
เครดิต...................... Linmou
ขุนพลผู้ต่อต้านกองทัพจิน (บรรพบุรุษของชาวแมนจู) ชื่อดังแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ (หนานซ่ง) เป็นวีรบุรุษที่เป็นสามัญชน ชื่อรองเผิงจวี่ (นกเผิงทะยาน) เป็นคนทังอิน เซียงโจว (จังหวัดเซียง) เหอเป่ยเขตตะวันตก (เหอเป่ยซีลู่) ปัจจุบันอยู่ในเขตมณฑลเหอหนาน เป็นชาวนาโดยกำเนิด เคยเป็นผู้เช่าที่นาทำกิน ปีที่ 4 ของศักราชเซวียนเหอแห่งรัชกาลพระเจ้า ซ่งฮุยจง (ค.ศ. 1122) เข้าเป็นทหาร ร่วมในกองทัพต่อต้านประเทศเหลียว (ชาวชี่ตาน)
ปีที่ 1 ของศักราชจิ้งคังแห่งรัชกาลพระเจ้าซ่งชินจง (ค.ศ. 1126) กองทัพจินบุกลงใต้ ตีเมืองหลวงตะวันออก (ตงจิง) คายเฟิงฟู่แตก (จังหวัดคายเฟิง ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนาน) คังหวาง (คังอ๋อง) เจ้าโก้วรวบรวมกำลังพลที่เซียงโจว (จังหวัดเซียง ปัจจุบันอยู่ในอานหยางซื่อ หรือจังหวัดอานหยาง มณฑลเหอหนาน) เพื่อรุดไปช่วยเหลือ เยว่เฟยอาสาเข้าร่วมในกองทัพเพื่อต่อต้านกองทัพจิน
ปีที่ 2 ศักราชจิ้งคัง(ค.ศ. 1127) ราชวงศ์ซ่งเหนือ (เป่ยซ่ง) ล่มสลาย คังหวางเจ้าโก้วขึ้นครองราชย์เป็นปฐมฮ่องเต้แห่งราชวงศ์หนานซ่ง(ซ่งใต้) ที่เมืองหลวงทางใต้ (หนานจิง) อิ้งเทียนฝู่ (จังหวัดอิ้งเทียน)
(ปัจจุบันอยู่ในเขตซางชิว มณฑลเหอหนาน) นามว่า ซ่งกาวจง ตั้งชื่อปีศักราชว่า เจี้ยนเหยียน (ปีที่ 1 ศักราชเจี้ยนเหยียน คือ ค.ศ. 1127) เยว่เฟยพยายามถวายฎีกาตำหนิหวงเฉี่ยนซ่านและวางป๋อเยี่ยนเรื่องยุทธการหนี และเสนอให้ยกทัพขึ้นเหนือตีชิงคายเฟิงและดินแดนที่ถูกแย่งไปคืนมา จึงถูกซ่งกาวจงริบตำแหน่งทางการทหาร ภายหลังติดตามกองทัพจางสั่ว หวางเยี่ยน จงเจ๋อออกรบต่อต้านกองทัพจินจนได้สร้างความดีความชอบหลายครั้ง จนได้เลื่อนตำแหน่งเป็นขุนนางทหาร
ปีที่ 3 ศักราชเจี้ยนเหยียน (ค.ศ. 1129) หลังจากที่กองทัพใหญ่ของจินบุกลงใต้ เยว่เฟยอาศัยกองกำลังทหารจำนวนน้อยตีกองทัพจินจนพ่ายแพ้หลายครั้ง และค่อยๆ กลายเป็นหนึ่งในยอดแม่ทัพคนสำคัญแห่งกองทัพซ่ง
ปีที่ 4 ศักราช ส้าวซิง แห่งรัชกาลซ่งกาวจง (ค.ศ.1134) เดือน 5 ซ่งกาวจงรับข้อเสนอของเยว่เฟย ส่งกองทัพเยว่เฟยไปตีเหว่ยฉี (แคว้นฉีเทียม ตั้งขึ้นในปีที่ 4 ศักราชเจี้ยนเหยียน เมื่อกองทัพจินยึดคายเฟิงได้ ก็ได้ตั้งหลิวอวี้ อดีตจือฝู่ (คล้ายผู้ว่าฯ) ของจี่หนานฝู่เป็นฮ่องเต้ปกครอง ตั้งชื่อว่าแคว้นฉี ในประวัติศาสตร์เรียก เหว่ยฉี ภายในสองสามเดือน เยว่เฟยทยอยตีเซียงหยางฝู่ (จังหวัดเซียงหยาง)
ซิ่นหยางจวิน ถังโจว เติ้งโจว อิ่งโจว สุยโจว (โจวคือจังหวัดเช่นเดียวกัน) กลับมาได้ นี่เป็นครั้งแรกในการรบในเขตจงเหยวียน (บริเวณตอนกลางและตอนล่างของแม่น้ำฮวงโหรวมถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของมณฑลหูหนาน พื้นที่ทางตะวันตกของมณฑลซานตง และพื้นที่ทางตอนใต้ของมณฑลเหอเป่ยและมณฑลซานซี)ที่กองทัพซ่งเป็นผู้เริ่ม ต้นบุก ถึงแม้เนื่องจากอุปสรรคจากพวกขุนนางในส่วนกลางทำให้ไม่สามารถขึ้นเหนือสืบต่อไป แต่ก็ถือว่าได้รับชัยชนะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในอดีต เยว่เฟย จึงได้เลื่อน
ตำแหน่งขึ้นเป็นขุนพลชิงเหยวี่ยนจวิน (น่าจะแปลว่าแม่ทัพพิชิตไกล) และตำแหน่งแม่ทัพอื่นๆ ด้วยเหตุนี้ และได้ชื่อร่วมกับจางจวิ้น หานซื่อจง หลิวกวงซื่อว่าเป็นสี่สุดยอดแม่ทัพคนดังแห่งต้นราชวงศ์หนานซ่ง
กองทัพเยว่เฟยห้าวหาญการศึก ระเบีบยวินัยเข้มงวด ได้รับความรักใคร่นับถือและสนับสนุนจากประชาชนเป็นอันมาก ได้รับการเรียกขานว่า เยว่เจียจวิน น่าจะแปลว่าท่านแม่ทัพเยว่ คำ {เจีย} แสดงถึงความรักใคร่และการให้ความสนิทสนมที่ประชาชนมีต่อท่าน
ปีที่ 4 ศักราชส้าวซิง แคว้นเหว่ยฉีร่วมมือกับกองทัพจินบุกซ่ง ถูกกองทัพซ่งตีพ่าย ต้นปีที่ 6 ศักราชส้าวซิง(ค.ศ. 1136) เยว่เฟยร่วมกับหานซื่อจงและจางจวิ้นบุกเหนือ เยว่เฟยได้ตีชิงฉางสุ่ยเซี่ยน (อำเภอฉางสุ่ย) อำเภอฮู่ซื่อ (ฮู่ซื่อเซี่ยน) และได้บุกไปถึงในเขตช่ายโจว (จังหวัดช่าย ทุกที่ที่กล่าวมา ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอหนานทั้งหมด) ประชาชนแถบเลียบลุ่มแม่น้ำฮวงโหให้สนับสนุนด้านต่างๆ (เช่นเสบียงกรัง) แก่กองทัพเยว่เฟยอย่างกระตือรือร้น การเดินทัพเป็นไปอย่างราบรื่น แต่เนื่องจากบรรดาขุนนางในราชสำนักเกิดการขัดแย้งกัน ขุนนางฝ่ายยอมสวามิภักดิ์ (ยอมแพ้) ลูกเดียวกุมอำนาจ เยว่เฟยจึงถูกเรียกตัวกลับเอ้อโจว (ปัจจุบันอยู่ในอำเภออู่ชาง จังหวัดอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย) การบุกเหนือจึงถูกเลิกล้มลงกลางครัน
เวลานั้น จากการสงครามที่เกิดติดต่อกันหลายปี กองทัพจินและเหว่ยฉีถูกตัดทอนลงอย่างมาก สภาพการณ์เปลี่ยนเป็นอำนวยต่อหนานซ่ง แต่ซ่งกาวจงมิเพียงไม่ฟังคำกราบทูลของเยว่เฟยที่ให้ฉวยโอกาสบุกเหนือ กลับไปเชื่อตามแผนการของฉินฮุ่ยขุนนางกังฉินที่เป็นไส้ศึก และดำเนินการขอยอมสวามิภักดิ์ต่อไปอย่างแข็งขัน
ราชสำนักจินเห็นว่าการใช้กองทัพไม่อาจปราบหนานซ่งลงได้ จึงเปลี่ยนแผนโดย ในปีที่ 7 ศักราชส้าวซิง (ค.ศ. 1137) ได้ยกเลิกแคว้นเหว่ยฉี แสดงความหมายยินยอมยกดินแดนเหว่ยฉีคืนให้แก่หนานซ่ง แต่ฮ่องเต้หนานซ่งต้องเรียกตัวเองว่าเป็นขุนนางของราชสำนักจินและต้องส่ง เครื่องบรรณาการทุกปี กับเรื่องนี้ ราษฎรของหนานซ่งคัดค้านอย่างรุนแรง ซ่งกาวจงกลับยินดีจนออกนอกหน้า ยอมรับทุกเงื่อนไขอย่างเต็มปากเต็มปากเต็มคำ
ต้นปีที่ 9 ศักราชส้าวซิง (ค.ศ.1139) ฉินฮุ่ย (ฉินข้วย - ชีนไคว่) เป็นตัวแทนซ่งกาวจงรับราชโองการของฮ่องเต้จิน เจรจาสงบศึก ราชสำนักจินคืนส่านซี เหอหนานแก่ราชสำนักซ่ง คืนโลงศพซ่งฮุยจงกลับมา ฮ่องเต้ซ่งยอมลดตนลงเป็นขุนนางของราชสำนักจิน แต่ละปีต้องมอบเครื่องบรรณาการเป็นเงินสองแสนห้าหมื่นตำลึง ผ้าสองแสนห้าหมื่นพับ
ภายใต้สภาพการณ์ที่มีเปรียบในด้านการรบแย่งตินแดนคืนกลับมาเซ็นสัญญาขอ เจรจาสงบศึกโดยมีเงื่อนไขที่น่าอัปยศเช่นนี้ บรรดาประชาชนที่รักชาติต่างพากันเป็นเดือดเป็นแค้นอย่างยิ่ง ซ่งกาวจงและฉินฮุ่ยกลับจัดงานฉลองกันเป็นการใหญ่ เยว่เฟยถวายฎีกาคัดค้านเรื่องนี้อย่างถึงที่สุด เสนอเรื่องบุกขึ้นเหนืออีกครั้ง จึงได้สร้างความขัดแย้งระหว่างตัวเขากับพรรคยอมสวามิภักดิ์ให้ลึกล้ำยิ่ง ขึ้น และทำให้ฉินฮุ่ยแค้นเขามากขึ้น
ปีที่ 9 ศักราชส้าวซิง (ค.ศ. 1139) ราชสำนักจินเกิดสงครามแย่งอำนาจกัน จอมพลหวานเหยียนจงปี้หรือจินอู้ซู่ผู้ต่อต้านการเจรจาสงบศึกกับราชสำนักซ่ง ได้กุมอำนาจ จึงตกลงใจจะบุกลงใต้อีกครั้ง
ปีที่10 ศักราชส้าวซิง (ค.ศ. 1140) ต้นเดือน 5 อู้ซู่ (หวานเหยียนจงปี้) นำทัพจินแบ่งเป็นสี่ทางบุกซ่ง เขตสนามรบอยู่บริเวณจากตอนใต้แม่น้ำหวยเหอไปจนถึงมณฑลส่านซี คายเฟิง ลั่วหยาง เสินโจว และหลายพื้นที่ในส่านซีทยอยตกเป็นของราชสำนักจินอีกครั้ง ต้นเดือน 6 อู้ซู่นำทัพเดินเท้าและทัพม้าหนึ่งแสนนายบุกซุ่นชาง (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลอานฮุย) แม่ทัพซ่ง หลิวฉี นำทัพไม่ถึงสองหมื่นนายฉวย
โอกาสที่ทัพจินเพิ่งมาถึง ซึ่งต่างก็ยังอ่อนเพลียจากการเดินทาง บุกเข้าโจกตีอย่างกะทันหันโดยใช้วิธีรบประชิดตัว ตีกองทัพจินแตกพ่ายยับเยิน กองทัพจินถอยกลับ{คายเฟิง}การศึกที่ ซุ่นชาง นี้ได้ทำลายขวัญทหารจินเป็นอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน แม่ทัพซ่ง หานซื่อจงยกทัพบุกขึ้นเหนือ ตีชิงห่ายโจว (ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจียงซู) กลับคืนมา ในขณะที่กองทัพจินบุกซุ่นชาง ส่านซี เยว่เฟยได้รับคำสั่งให้ยกทัพไปหนุนซุ่นชางและรุกเข้าจงเหยวียน หลังการศึกที่ซุ่นชาง กองทัพเยว่เฟยขึ้นเหนือไปเรื่อยๆ สู่หูเป่ยไปถึงเหอหนาน ได้รับความร่วมมือจากกองทัพกู้ชาติในพื้นที่ต่างๆ มาโดยตลอดจนทำให้กองทัพเกรียงไกรอย่างยิ่ง และได้ทยอยตีชิงอิ่งชาง เฉินโจว เจิ้งโจว ลั่วหยางกลับคืนมา
ปีที่ 10 ศักราชส้าวซิง (ค.ศ. 1140) เดือน 7 อู้ซู่นำทัพจินในชุดเกราะเต็มอัตราศึกบุกศูนย์กลางกองบัญชาการทัพของเยว่เฟย ที่เมืองเหยี่ยนอย่างกะทันหัน เยว่เฟยส่งทัพเดินเท้าและทัพม้าออกรับศึก บรรดาทหารหาญมือถือมีดและขวานบุกตะลุยสังหารอย่างห้าวหาญ มีแต่รุก ไม่มีถอย บุกตะลุยจนถึงมืด เข่นฆ่าสังหารยุทธการไร้พ่ายของอู้ซู่จนแตกพ่ายยับเยิน วันถัดมา เยว่เฟยนำทัพบุกไปถึงค่ายทหารจินด้วยตนเอง ทหารจินทอดซากตายไปทั่วพื้นที่ แตกกระเจิงถอยไปสิบกว่าหลี่ อู้ซู่ถึงกับถอนใจอย่างละอายว่า คลอนภูผาง่าย คลอนเยว่เจียจวินยาก ! แล้วออกคำสั่งให้พวกคนแก่และเด็กที่ติดตามมากับกองทัพถอยกลับคายเฟิง
ใครก็ตามที่ได้รับรู้เรื่องราวและเห็นภาพภายในศาล เจ้า ทั้งภาพการต้อนรับทหารจากชาวบ้าน หรือภาพที่มารดางักฮุยสลักคำสอนกลางหลังบุตรชาย จะรู้สึกเหมือนกันว่า คนรักชาติ จะได้รับการคารวะไม่ว่าจะอยู่หรือตาย ขณะที่คนทรยศแผ่นดิน ก็จะถูกถ่มน้ำลายใส่แม้จะตายไปแล้วหลังการศึกครั้งนี้ เยว่เฟย
กราบทูลเสนอให้ซ่งกาวจงออกคำสั่งให้ทหารซ่งในพื้นที่ต่างๆบุกขึ้น เหนือแบบสายฟ้าแลบในทันที ตีชิงตงจิง (เมืองหลวงตะวันออก) คายเฟิงคืนมา จากนั้นข้ามแม่น้ำฮวงโหตีชิงพื้นที่เหอเป่ยคืนมา แต่ซ่งกาวจงกลับออกคำสั่งให้กองทัพในพื้นที่ต่างๆถอยกลับ ทำให้กองทัพของเยว่เฟยตกอยู่ตามลำพังไร้กองทัพหนุน จากนั้นส่งป้ายทองประกาศิตเรียกกองทัพเยว่เฟยกลับ ภายใต้แรงกดดันอย่างหนัก เยว่เฟยจึงต้อง
ยกทัพกลับอย่างไม่มีทางเลือก ประชาชนในพื้นที่ต่างๆต่างมาร่ำไห้ที่หน้าม้าศึกของเยว่เฟย อ้อนวอนให้อยู่ต่อ อย่าได้กลับไป ตัวเยว่เฟยเองก็แค้นใจจนร้องไห้ แต่ก็จนใจด้วยถูกบีบจนไม่มีทางเลือก เพราะไร้ทัพหนุน หากรุกหน้าไปตามลำพังทัพเดียว จะถูกทัพจินโอบล้อมโจมตีแตกพ่ายได้ง่าย
หลังจากกองทัพซ่งถอยลงใต้ พื้นที่ที่ตีชิงกลับคืนมาได้ทั้งหมด ต่างตกเป็นของราชสำนักจินอีกครั้ง อานุภาพอันยิ่งใหญ่ของฝ่ายกู้ชาติก็ถูกพวกซ่งกาวจงและฉินฮุ่ยทำลายไปโดยง่าย ดายเช่นนี้เอง
ปีที่ 11 ศักราชส้าวซิง (ค.ศ. 1141) ซ่งกาวจงและฉินฮุ่ยได้ริบอำนาจทางการทหารของเยว่เฟย หานซื่อจง หลิวฉีโดยแต่งตั้งให้หานซื่อจงและเยว่เฟยเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดและรอง ผู้บัญชาการฯ ฉากหน้าเลื่อนตำแหน่งแต่ความจริงลดอำนาจ โดยอำนาจคุมทัพที่แท้จริงตกอยู่ในมือของฝ่ายต้องการเจรจา
สงบศึก จางจวิ้น (คนละคนกับหนึ่งในสี่ยอดแม่ทัพ) ซึ่งเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดอีกคน ปีเดียวกันเดือน 8 ก็ได้ปลดเยว่เฟยออกจากราชการ เดือน 9 ฉินฮุ่ยคบคิดกับจางจวิ้นติดสินบนหวางจวิ้น หวางกุ้ย ลูกน้องของเยว่เฟย ใส่ความว่าเยว่เฟยคิดก่อการกบฏ จับกุมตัวเยว่เฟยและบุตรชายคนโต เยว่อวิ๋น กับขุนพลคู่ใจ จางเซี่ยนเข้าคุก ขุนนางแทบทั้งหมดในราชสำนักต่างเห็นว่าเยว่เฟยไม่มีความผิด แต่ฉินฮุ่ยได้ให้ม่อฉีเซี่ยซึ่งเป็นพวกเดียวกับเขาจัดการคดีนี้ ยัดข้อหาเยว่เฟยหลายกระทง ฝ่ายหวานเหยียนจงปี้ (อู้ซู่) ก็เสนอให้ประหารเยว่เฟยเป็นเงื่อนไขในการเจรจาสงบศึก
สุดท้ายซ่งกาวจงและฉินฮุ่ยได้สั่งประหารเยว่เฟย เยว่อวิ๋น และจางเซี่ยนด้วยข้อหา “น่าจะมีความผิด” (ฉินฮุ่ยไม่ยอมลดละความพยายามในการป้ายสีงักฮุยต่างๆ นานา แม้จะตรวจไม่พบความผิดใดๆ ก็ตาม แต่ในที่สุดฉินฮุ่ยก็ปั้นเรื่องจนทำให้งักฮุยต้องถูกโทษประหารจนได้ โดยเมื่อมีขุนนางฝ่ายงักฮุยคนอื่นๆ ทักท้วง และตั้งคำถามฉินฮุ่ยว่ามีหลักฐานในการกล่าวโทษงักฮุยหรือไม่ ฉินฮุ่ยก็ตอบว่า “อาจจะมีก็ได้
{莫须有}คำตอบของฉินฮุ่ยที่ว่า อาจจะมีก็ได้นี้ ภายหลังกลายเป็นศัพท์ที่ถูกจารึกไว้ต่อๆ มาว่ามีความหมาย คือการให้ร้ายผู้อื่นโดยปราศจากหลักฐาน) ลงในวันสิ้นปี (ฉูซี)
ขณะที่เยว่เฟยตาย เพิ่งมีอายุได้ 39 ปี ครอบครัวของเขาถูกเนรเทศไปอยู่หลิงหนาน ผู้ที่พลอยติดร่างแหไปด้วยมีนับไม่ถ้วน
เยว่เฟยเป็นวีรบุรุษสามัญชนชื่อดังในประวัติศาสตร์จีน ทำยืนหยัดสู้ต่อต้านจินมานาน 18 ปี ได้รับความเคารพรักใคร่จากประชาชนเป็นอันมาก การตายของเขาได้ก่อให้เกิดความเศร้าสลดแก่มวลชนเป็นจำนวนมาก ใต้หล้ายินข่าว ต่างหลั่งน้ำตา จากผู้ใหญ่ถึงทารกสูงสามฉื่อ(ประมาณ 70 ซม.) ต่างแค้นฉินฮุ่ย”
นอกจากเยว่เฟยจะน่าสนใจแล้ว เยว่อวิ๋น (ค.ศ. 1119-1142) บุตรชายคนโตของเขาก็น่าสนใจเช่นกัน ดู
จากอายุคงทราบว่าเขาเกิดตอนเยว่เฟยอายุประมาณ 15-16 อายุ 12 เข้าเป็นทหารติดตามบิดาต่อต้าน
จิน อายุ 15 ขณะที่ตีชิงสุยโจวกลับคืนมา เขาเป็นคนแรกที่บุกเข้าไปเหยียบเมือง เป็นยอดขุนพลผู้ห้าวหาญแห่งกองทัพ ค.ศ. 1140 การศึกที่อิ่งโจว นำทัพบุกโจมตีค่ายแตก ตีทัพหลักของอู้ซู่จนแตกพ่าย แต่สุดท้ายก็ถูกประหารพร้อมเยว่เฟยตอนอายุ 23 น่าเสียดายอนาคตยอดขุนพลผู้นี้จริงๆ
แดงทั่วธาร {หม่านเจียงหง – 滿江紅}
แปลโดย โชติช่วง นาดอน (คุณทองแถม นาถจำนง)
โกรธา เกศา ตั้งดัน ชนหมวก ผมชัน
พิงเสา เอาหลัก พักไว้
จั้กจั้ก ฝนหนัก พักไป แหงนหน้า ฟ้าไกล
พองใจ กู่ก้อง ร้องดัง
(วัย) สามสิบ วีรกรรม ก็ยัง เพียงดิน ฝุ่นฝัง
แปดพัน ลี้เมฆ ควบแข
อย่าเซื่อง ว่างเฉา เปล่าแด ปล่อยวัย เปลี่ยนแก่
ชีวิต สูญเปล่า เศร้าฤทัย
แค้นปี จิ้งคัง ฝังใจ ยังไม่ ชดใช้
เมื่อใด ล้างหนี้หนอกู
ควบรถ บดค่าย ศัตรู อัปรา ริปู
เฮ้อหลาน ซานขาด พินาศไป
โชนกร้าว กระหาย กล้าใจ ฉีกกิน เนื้อไห้ไอ
คนเถื่อน ดื่มเลือด สรวลสันต์
รอก่อน กอบกู้ ถึงวัน พื้นแผ่น ดินผัน
เข้าเฝ้า ฉลอง ไชโย
อีกสำนวนหนึ่งเป็นการแปล ของ คุณ Dingtech
โกรธแค้นแสนคลั่ง เส้นเกศาตั้ง ใต้มาลา
เอนพิงอิงราว พิรุณกราวกราว ก็ละรา
แหงนเล็งเหลือบจ้อง นภาพลางกู่ร้อง ก้องโกญจา
กำแหงกล้าหาญ ปณิธานราน เร้าวิญญา
สามสิบขวบปี ยศศักดิ์แค่คลี ธุลีธรา
แปดพันลี้ทาง ท่องใต้เมฆางค์ และจันทรา
อย่ารั้งละเลย วัยทรามเศียรเอย หงอกแล้วหนา
จิ้งคัง ครั้งอัปยศ ยังมิแทนทด ความอัปรา
ความแค้นขึ้งใจ เสวกาคราใด ดับสูญหนา?
ขับขบวนรัถยาน หัก{เห้อหลานซาน} ด่านภิณทนา
หาญมั่นเจตน์มุ่ง หิวเนื้อ {หู} ปรุง เป็นภักษา
กระหายเลือด {ซยุงหนู} ดื่มดวดแล้วกู สรวลเสวนา
ร่วมกันอีกเรา ร่วมกอบกู้เอา ภูธารา
ค่อยค้อมบังคม บาทสวรรโยดม ณ ทวารา ฯ
จิ้งคัง {เจ๋งคัง} ชื่อปีรัชกาลที่ราชวงศ์ซ้องเสียเมืองหลวง ตรงกับปี ค.ศ. 1126 เป็นที่มาของชื่อของ ก้วยเจ๋ง และเอี้ยคัง ที่นักพรตคูชู่กีแนะนำต่อก้วยเซ่าเทียนกับเอี้ยทิซิม ตั้งชื่อบุตรเพื่อไม่ให้ลืมความอัปยศของรัชกาลเจ๋งคัง
เห้อหลานซาน เป็นเมืองหน้าด่านทางภาคตะวันตก
หู ซุงหนู เป็นชื่อของชนเผ่านอกกำแพงใหญ่ สามารถรวบรวมกำลังมาตีกับชาวฮั่นเมื่อสบโอกาส
ที่มา..........................................
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น